มะเร็งปอด

มะเร็งปอด
มะเร็งปอด พบมากและเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของมะเร็งทั้งหมดในประเทศไทย ซึ่งตรวจพบในระยะเริ่มแรกได้ยากและมีอัตราการเสียชีวิตสูง

สาเหตุของมะเร็งปอด
1. บุหรี่
การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุที่สำคัญที่สุดของการเกิดโรคมะเร็งปอด โดยผู้สูบบุหรี่มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึง 10 เท่า นอกจากนี้ ผู้ที่ต้องสูดดมควันบุหรี่ของผู้อื่นก็เสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งปอดด้วยเช่นกัน ในบุหรี่มีสารประกอบมากกว่า 4,000 ชนิด และมีประมาณ 60 ชนิด ที่เป็นสารก่อมะเร็ง มีตัวกระตุ้นและตัวส่งเสริมให้เกิดมะเร็งปอด เช่น ทาร์ นิโคติน คาร์บอนมอนนอกไซด์ ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ฟีนอล แอมโมเนี เบนซิน และฟอร์มัลดีไฮด์ เป็นต้น

2. แอสเบสตอส
แอสเบสตอสเป็นแร่ที่ใช้ในอุตสาหกรรมหลายชนิด เช่น การก่อสร้าง โครงสร้างอาคาร ผ้าเบรค คลัชฉนวน ความร้อน อุตสาหกรรมสิ่งทอ เหมืองแร่ เป็นต้น ซึ่งผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากแอสเบสตอส ได้แก่ ผู้ที่ทำงานในสิ่งแวดล้อมที่มีการใช้แอสเบสตอสเป็นส่วนประกอบ โดยระยะเวลาตั้งแต่สัมผัสฝุ่นแอสเบสตอสจนเป็นมะเร็งปอดนั้น อาจใช้เวลาถึง 15–35 ปี ผู้ไม่สูบบุหรี่แต่ทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสตอสนั้นเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไป 5 เท่า หากสูบบุหรี่และทำงานกับฝุ่นแร่แอสเบสตอสด้วยก็จะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคนทั่วไปถึง 90 เท่า

3. เรดอน
เรดอนเป็นก๊าซกัมมันตรังสีที่เกิดจากการสลายตัวของแร่ยูเรเนียมในใยหิน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีรส กระจายอยู่ในอากาศและน้ำใต้ดิน ในที่ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เช่น ในเหมืองใต้ดินที่อาจมีปริมาณมากจนทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดได้

4. มลภาวะในอากาศ
มลภาวะในอากาศก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เสี่ยงมะเร็งปอดได้ เช่น ไอควันพิษจากรถยนต์ และควันพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

อาการของโรคมะเร็งปอด
ในระยะเริ่มแรกของโรคมะเร็งปอดนั้นไม่มีอาการใดๆ ที่บ่งชี้ได้อย่างชัดเจนว่าเป็นมะเร็งปอด แต่อาจพบอาการไอเรื้อรัง เป็นลักษณะไอแห้งๆ นานกว่าธรรมดา บางครั้งมีเสมหะหรือมีเลือดออกเป็นเพียงสายๆ ติดปนกับเสมหะออกมาด้วย น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ตัวซีด อ่อนเพลีย ปอดอักเสบ มีไข้ เจ็บหน้าอก อาการเหล่านี้อาจทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ยอมมาพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ทำให้โอกาสที่จะรักษาหายนั้นลดน้อยลง
อาการระยะเริ่มต้น
1. ไอแห้งๆ อยู่นานกว่าธรรมดา
2. ไอมีเสมหะ
3. ไอเป็นเลือด
4. ปอดอักเสบ มีไข้ เจ็บหน้าอก
5. น้ำหนักลด เบื่ออาหาร ซีด อ่อนเพลีย
6. เสียงแหบ เพราะมะเร็งลุกลามไปยังประสาทบริเวณกล่องเสียง
7. บวมที่หน้า คอ แขน และอกส่วนบน เนื่องจากมีเลือดดำคั่ง
8. หายใจลำบาก และเหนื่อยหอบ เนื่องจากก้อนมะเร็งโตขึ้น ทำให้เนื้อที่ปอดสำหรับหายใจเหลือน้อยลงไม่เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย
9. กลืนลำบาก เนื่องจากหลอดอาหารถูกกดทับ
10. มีอาการเจ็บปวด เนื่องจากมะเร็งลุกลามแพร่กระจายไปในกระดูก ผนังอก ฯลฯ
11. เป็นอัมพาด เนื่องจากมะเร็งแพร่กระจาย ไปยังสมองหรือไขสันหลัง

การวินิจฉัย
1. ถ่ายภาพเอ็กซเรย์ปอด
2. ตรวจเสมหะที่ไอออกมาเพื่อหาเซลล์มะเร็ง
3. ส่องกล้องตรวจดูภายในหลอดลม
4. ขลิบชิ้นเนื้อจากหลอดลมหรือต่อมน้ำเหลือง บริเวณไหปลาร้า เพื่อการวินิจฉัยทางพยาธิวิทยา

การรักษา
เมื่อมั่นใจแล้วว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็งปอด แพทย์จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าผู้ป่วยควรได้รับการรักษาแบบใดจึงจะเหมาะสมที่สุด โดยพิจารณาถึงอายุ ภาวะความแข็งแรงของร่างกาย ระยะของโรค ชนิดของมะเร็ง และการยอมรับของผู้ป่วย ซึ่งการรักษาจะประกอบด้วยการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด การรักษาแบบผสมผสาน (การผ่าตัด ฉายแสง และเคมีบำบัด) และการรักษาแบบประคับประคอง

การป้องกัน
1. เลิกสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์
2. หลีกเลี่ยงการได้รับมลพิษในสิ่งแวดล้อม
3. ทานผัก ผลไม้ให้มากขึ้น และเลือกทานอาหารที่มีวิตามิน C วิตามิน E รวมทั้งเซเลเนียม เช่น ข้าวซ้อมมือ รำข้าว เป็นต้น หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
4. หลีกเลี่ยงการทานอาหารที่มีไขมันสูง