มะเร็งศีรษะและลำคอ

มะเร็งศีรษะและลำคอ 

มะเร็งของศีรษะและลำคอ มะเร็งที่เกิดขึ้นในเยื่อบุผิวทางเดินหายใจและทางเดินอาหารส่วนต้น โดยตำแหน่งสำคัญที่อาจเกิดเป็นมะเร็ง ได้แก่ ช่องปาก ช่องคอโพรงรอบจมูก กล่องเสียง ต่อมไทรอยด์ และต่อมน้ำลาย โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งศีรษะและลำคอ จะหมายถึงเฉพาะมะเร็งในบริเวณช่องปาก ช่องคอ กล่องเสียง และบริเวณโพรงอากาศรอบจมูกเท่านั้น

สาเหตุของโรคมะเร็งของศีรษะและลำคอ

สำหรับประเทศไทยพบว่าปัจจัยเสี่ยงของโรคมะเร็งศีรษะและลำคอมาจากการดื่มเหล้าและการสูบบุหรี่ ส่วนการเคี้ยวหมากร่วมกับใบยาสูบเป็นพฤติกรรมที่พบบ่อยในอดีต และเป็นปัจจัยที่สำคัญในการเกิด “มะเร็งช่องปาก” โดยเฉพาะบริเวณกระพุ้งแก้ม ผู้ป่วยบางรายอาจมีความผิดปกติระดับยีนที่เสริมให้เกิดมะเร็งจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุเสริมอื่นๆ ได้แก่ ภาวะภูมิคุ้มกัน และความผิดปกติทางพันธุกรรมอาจมีส่วนทำให้เกิดมะเร็งศีรษะและลำคอได้เช่นกัน

สัญญาณอันตรายที่ไม่ควรมองข้าม

อาการของมะเร็งในระยะแรกจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เป็น

  • มะเร็งของกล่องเสียง : อาการเสียงแหบ
  • มะเร็งช่องปาก : อาการแผลเรื้อรัง ปวดพูดไม่ชัด เลือดออกจากแผล และก้อนยื่นออกมา
  • มะเร็งบริเวณโคนลิ้น และกล่องเสียง : อาการกลืนเจ็บ กลืนลำบาก เสียงเปลี่ยน หรือหายใจไม่สะดวก
  • มะเร็งหลังโพรงจมูก : อาการหูอื้อ ฟังไม่ชัด เกิดจากภาวะน้ำคั่งในหู
  • มะเร็งของช่องจมูกและโพรงอากาศรอบจมูก : อาการแน่น โพรงจมูกหรือปวดศีรษะตื้อๆ

มะเร็งบางตำแหน่ง เช่น หลังโพรงจมูก หรือบริเวณใต้กล่องเสียง อาจไม่แสดงอาการใดๆ ทั้งสิ้นในระยะแรก แต่สำหรับมะเร็งทุกชนิดในระยะลุกลาม มักจะมีอาการคล้ายกันในทุกตำแหน่งของร่างกาย เช่น

–   น้ำหนักลดลง

–   อาการปวดร้าวจากมะเร็งลุกลามไปที่เส้นประสาท

–   อาการของเส้นประสาทสมองถูกทำลาย เช่น ตามองเห็นภาพซ้อน

–   อาการหายใจลำบากจากทางเดินหายใจอุดกั้น

–   แผลที่ทะลุออกทางผิวหนัง และเลือดออกจากช่องปากหรือช่องคอ

การรักษาในปัจจุบัน

มะเร็งศีรษะและลำคอมักเกิดในผู้ป่วยสูงอายุและมีโรคร่วมจากการสูบบุหรี่และดื่มสุรา การดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกันจากแพทย์หลายๆ ฝ่าย ซึ่งการให้การวินิจฉัยและประเมินผู้ป่วยก่อนการรักษาถือเป็นหัวใจหลักของการดูแลรักษาทั้งหมด 

หากคุณหรือคนใกล้ตัวมีอาการที่น่าสงสัยหรือเป็นผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคชนิดนี้ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย เพราะหากยังอยู่ในระยะเริ่มแรกโอกาสที่จะรักษาให้หายขาดก็มีมากขึ้น ในทางกลับกันหากอยู่ในระยะลุกลาม การรักษาอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร นอกจากนี้ผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและลำคอมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะเกิดมะเร็งที่ตำแหน่งอื่นๆ ในระบบทางเดินอาหารและหายใจ ซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มสุราและสูบบุหรี่ที่กระตุ้นให้เกิดมะเร็ง มีผลต่อเยื่อบุทั้งหมดที่สัมผัสกับสารเหล่านี้แม้ว่าจะหยุดปัจจัยเสี่ยงไปแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยทุกรายควรได้รับการตรวจวินิจฉัยติดตามอาการไปเป็นระยะๆ ภายหลังการรักษาครั้งแรก