มะเร็งโพรงจมูก

มะเร็งโพรงจมูก

มะเร็งโพรงจมูกเป็นมะเร็งที่เกิดได้ยาก มีผลกระทบต่อโพรงจมูก พื้นที่หลังโพรงจมูก โพรงอากาศข้างจมูก โหนกแก้ม และหน้าผาก โดยมะเร็งโพรงจมูกนั้นเกิดจากเซลล์ที่ผิดปกติหรือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับเซลล์จนก่อให้เกิดเนื้อร้าย และแพร่กระจายไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้

สาเหตุ

ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของมะเร็งหลังโพรงจมูก แต่มีปัจจัยต่างๆ ที่อาจเพิ่มอัตราเสี่ยงโรคมะเร็งหลังโพรงจมูก ได้แก่

  1. คนที่ดื่มเหล้ามากๆ เป็นเวลานาน จะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคมะเร็งสูงขึ้น ซึ่งมะเร็งที่พบบ่อยในคนที่ดื่มเหล้า ได้แก่ มะเร็งในช่องปาก มะเร็งหลังโพรงจมูก มะเร็งหลอดอาหาร มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับ และมะเร็งตับอ่อน เป็นต้น
  2. มะเร็งหลังโพรงจมูกพบมากในประเทศจีนทางตอนใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยจะพบมากในคนที่มีเชื้อสายจีน
  3. ตรวจพบอนุภาคของไวรัส Ebsuein – Barr ในเซลล์มะเร็ง และตรวจพบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสชนิดนี้ในเลือดของผู้ป่วย
  4. สารไนโตรซามีนที่พบได้ในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง รมควัน และอาหารหมักดอง
  5. อาการระคายเคืองเรื้อรัง เช่น สารระเหย ควันเขม่า ควันธูป และกำยาน เป็นต้น

อาการ

เนื่องจากมะเร็งหลังโพรงจมูกอยู่ในตำแหน่งที่มองไม่เห็นจากภายนอก ผู้ป่วยจึงมักจะมาพบแพทย์ในระยะที่อาการของโรคได้ลุกลามไปแล้ว ลักษณะอาการพบได้อย่าง เช่น อาการทางจมูก หู เส้นประสาท และตา โดยส่วน ใหญ่มักพบอาการทั่วๆ ไป ได้แก่ มีเลือดกำเดาหรือเลือดออกในโพรงจมูก หายใจคัดจมูก แน่นจมูก ปวดหรือชาบริเวณฟันและแก้ม บางรายมีก้อนที่คอจากต่อมน้ำเหลืองโต ซึ่งเป็นต่อมน้ำเหลืองที่มีโรคกระจายมา นอกจากนี้ยังพบอาการปวดศีรษะ ปวดหู หูอื้อ หรือหูตึง ซึ่งมักเป็นข้างเดียว บางรายอาจมีอาการทางระบบประสาท คือ ตาเข มีลักษณะบวมบริเวณโหนกแก้มหรือจมูก โดยอาจมีอาการเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้

การวินิจฉัย

มะเร็งหลังโพรงจมูกส่วนมากเป็นเซลล์มะเร็งชนิดที่มีการแพร่กระจายค่อนข้างรวดเร็ว และเนื่องจากมะเร็งอยู่ในตำแหน่งที่มองไม่เห็นการวินิจฉัยจึงมักจะล่าช้า

1) การตรวจร่างกาย แพทย์จะทำการตรวจบริเวณคอและศีรษะอย่างละเอียด โดยจะสำรวจผิวหนังบริเวณใบหน้า จมูก ศีรษะและคอ โดยใช้มือคลำและสำรวจเยื่อบุในโพรงจมูกด้วยกล้องส่องจมูก (Nasal speculum) และส่องหู (Otoscope) บางรายอาจต้องส่องกล้องพิเศษพร้อมตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ

2) การเอกซ์เรย์ และเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ รวมถึงการตรวจพิเศษอื่นๆ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยโรคว่ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปบริเวณอื่นๆ หรือไม่ เช่น กระดูก สมอง หรือตับ

3) การตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยาเพื่อทราบการวินิจฉัยที่แน่นอน

4) ในปัจจุบัน การตรวจเลือดดูค่า lgG หรือภูมิคุ้มกันต่อไวรัส Ebsuein – Barr จะช่วยในการวินิจฉัย และการติดตามภายหลังการรักษาได้เป็นอย่างดี

การรักษา

โดยทั่วไปการรักษาหลักๆ มักใช้วิธีการฉายแสงที่บริเวณโพรงจมูก และที่ต่อมน้ำเหลือง เนื่องจากมะเร็งบริเวณนี้จะทำศัลยกรรมหรือผ่าตัดได้ลำบากมาก ซึ่งการทำการรักษาด้วยการฉายแสงจะให้ผลการรักษาที่ดีในระยะแรกๆ ของโรค อาจรักษาให้หายขาดได้ แต่ในระยะลุกลามอาจมีการใช้เคมีบำบัดร่วมในการรักษาด้วย ทั้งนี้เพื่อลดขนาดของก้อนเนื้อลงก่อนเริ่มการฉายรังสี