มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งปากมดลูก และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงอีกด้วย มะเร็งเต้านมนั้นเกิดจากความปิดปกติของเซลล์ที่อยู่ภายในท่อน้ำนมหรือต่อมน้ำนม ซึ่งอาจมีการแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะที่ห่างไกล เช่น ปอด กระดูก ตับ เป็นต้น สำหรำบมะเร็งเต้ามนมนั้น หากมีการตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก อาจมีโอกาสประสบความสำเร็จในการรักษาสูง

ปัจจัยเสี่ยง

ปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านมได้มีดังนี้

  1. ผู้หญิงที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทอง ยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้น ความเสี่ยงของโรคจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
  2. มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งมาก่อน เต้านมอีกข้างอาจมีโอกาสมากขึ้นที่จะตรวจพบมะเร็งได้
  3. มีประวัติการป่วยโรคมะเร็งเต้านมในญาติสายตรง เช่น มารดา พี่สาว น้องสาว หรือลูกสาว
  4. เคยตรวจพบเนื้อเยื่อเต้านมที่ไม่ใช่มะเร็งในอดีต
  5. ความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงของยีนจำเพาะบางชนิด
  6. ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตรหรือมีบุตรตอนอายุมากจะเพิ่มอัตราเสี่ยงการเกิดมะเร็งเล็กน้อย
  7. การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอาย 12 ปี หรือ หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี อาจเพิ่มอัตราเสี่ยงมะเร็งได้
  8. มีประวัติการได้รับรังสีรักษาบริเวณหน้าอกเมื่ออายุน้อย เช่น ใช้เพื่อการรักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองบางชนิด
  9. มีประวัติการใช้ยาคุมกำเนิดและใช้ฮอร์โมน
  10. การตรวจพบเนื้อเต้านมที่มีความหนาแน่นหรือมีการสะสมไขมันเยอะจากการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) อาจพบโรคมะเร็งเต้านมได้บ่อยขึ้น
  11. ภาวะโรคอ้วนลงพุงและน้ำหนักเกินในสตรีวัยหมดประจำเดือน
  12. ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านมจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคได้ แต่อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจไม่เป็นมะเร็งเต้านมแม้มีปัจจัยเสี่ยง ในขณะที่คนที่เป็นมะเร็งเต้านมหลายรายไม่พบว่ามีปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้เลยแม้แต่ข้อเดียว

การตรวจคัดกรอง

การตรวจคัดกรองเป็นประจำจะช่วยให้แพทย์สามารถพบโรคมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และทำการรักษาได้อย่างทันท่วงทีเพื่อเพิ่มโอกาสการรักษาโรคให้หายขาดได้สูงขึ้น

 

การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่แนะนำได้แก่

  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง

ควรทำการตรวจเต้านมเพื่อหาความเปลี่ยนแปลงบริเวณเต้านมด้วยตัวเองทุกเดือน การเปลี่ยนแปลงที่รู้สึกได้นั้นอาจเกิดจากอิทธิพลของระดับฮอร์โมนเพศในช่วงต่างๆ เช่น ระหว่างรอบประจำเดือน ขณะตั้งครรภ์ วัยทอง การใช้ฮอร์โมนทดแทน ยาคุมกำเนิด หรือแม้แต่สมุนไพรและยาพื้นบ้านต่างๆ หากตรวจด้วยตัวเองสงสัยหรือไม่แน่ใจว่ามีก้อนหรือไม่ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อช่วยวินิจฉัยต่อไป 

การตรวจเต้านม สามารถตรวจได้ทั้งท่านั่งและท่านอนหงาย เพื่อตรวจหาความผิดปกติต่างๆ ของเต้านม หัวนม และท่อน้ำนมว่าเป็นอย่างไร ในด้านของขนาด (size) รูปร่าง (contour) ลักษณะของก้อน (texture) การกดเจ็บ (tenderness) และตำแหน่ง (position) ของก้อนนั้นๆ เป็นต้น

  1. การตรวจแมมโมแกรม 

การตรวจแมมโมแกรมจะช่วยตรวจค้นหาก้อนบริเวณเต้านมที่มีขนาดเล็กจนอาจคลำไม่พบ เมื่อแพทย์สงสัยรอยโรคผิดปกติจากการตรวจ อาจจำเป็นต้องตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่สงสัยส่งพิสูจน์ทางพยาธิวิทยาเพิ่มเติมเพื่อยืนยันและรีบทำการรักษา แนะนำให้ตรวจแมมโมแกรมในกรณีต่อไปนี้

  • อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรตรวจแมมโมแกรมทุก 1-2 ปี 
  • กลุ่มอายุน้อยกว่า 40 ปีที่มีปัจจัยเสี่ยง ควรปรึกษาแพทย์ถึงเวลาที่ควรเริ่มตรวจครั้งแรกและความถี่ของการตรวจแมมโมแกรม
  1. การตรวจอัลตราซาวด์เต้านม

การอัลตราซาวด์เป็นการตรวจเพื่อแสดงให้เห็นว่าก้อนในเต้านมนั้นมีลักษณะเป็นถุงน้ำหรือก้อนแข็งเท่านั้น แต่ไม่สามารถแยกได้ว่าเป็นมะเร็งหรือไม่ การตรวจด้วยการทำอัลตราซาวด์จึงไม่เหมาะที่จะนำมาใช้เป็นการตรวจเพื่อคัดกรอง แต่สามารถใช้ช่วยนำทางในการตัดชิ้นเนื้อออกตรวจ หรือเจาะดูดชิ้นเนื้อของก้อนโดยเฉพาะในกรณีที่คลำก้อนได้ไม่ชัดเจน

  1. การตรวจเต้านมโดยแพทย์

การตรวจเต้านมโดยแพทย์เป็นขั้นตอนหนึ่งในการตรวจร่างกายประจำปีหรือเมื่อสงสัยก้อนที่เต้านม แพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียดตามขั้นตอนเพื่อหารอยโรค สารคัดหลั่งผิดปกติและต่อมน้ำเหลืองที่เกี่ยวข้องในบริเวณนั้น

อาการ

โรคมะเร็งเต้านมอาจมีอาการที่น่าสงสัยเหล่านี้

  • มีก้อนหรือความหนาตัวของเนื้อเต้านมหรือบริเวณใต้รักแร้ บางครั้งอาจมีอาการเจ็บบริเวณหัวนม (Nipple)
  • เห็นความเปลี่ยนแปลง เช่น ขนาดหรือลักษณะภายนอกของเต้านมเปลี่ยนไป หัวนมมีการยุบหรือบุ๋มลงไปคล้ายโดนดึงรั้ง ผิวหนังบริเวณใดบริเวณหนึ่งมีรอยย่นยับ บวมแดง หรือบุ๋มดูคล้ายผิวส้ม
  • มีของเหลวไหลออกมาจากหัวนม
  • ต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โต

การรักษา

แผนการรักษามะเร็งเต้านมนั้นขึ้นอยู่กับระยะของโรค ขนาดของก้อน รวมถึงข้อพิจารณาอื่นๆ เช่น อายุผู้ป่วย  สถานภาพของประจำเดือน สุขภาพทั่วไป เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมีวิธีการรักษาหลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด ฉายแสง เคมีบำบัด ฮอร์โมนบำบัดและสารประกอบชีวภาพ (Biological therapy) แพทย์ผู้ดูแลมักแนะนำให้ใช้การรักษาแบบผสมผสานเพื่อผลการรักษาและการพยากรณ์ โรคที่ดีที่สุดโดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

การตรวจติดตามโรค

การตรวจติดตามโรคมีความสำคัญไม่แพ้การรักษา แม้ตรวจไม่พบร่องรอยของโรคหลังครบการรักษาแล้ว มะเร็งเต้านมก็ยังมีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้อีก แพทย์จึงจำเป็นต้องนัดตรวจติดตามเป็นระยะๆ จนกว่าจะมั่นใจว่าจะไม่กลับเป็นซ้ำอีก ซึ่งการตรวจติดตามประกอบไปด้วยการตรวจร่างกายโดยเน้นบริเวณทรวงอก คอ และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง บางครั้งแพทย์จะแนะนำให้ติดตามเพิ่มเติมด้วยแมมโมแกรมทั้งข้างที่รักษาแล้วและเต้านมอีกข้างเพื่อประเมินโรค

ตัวผู้ป่วยเองควรหมั่นสังเกตและหากมีอาการหรือสิ่งเปลี่ยนแปลงที่พบหลังการรักษา เช่น อาการเจ็บปวด น้ำหนักลด เบื่ออาหาร เลือดออกหรือประจำเดือนมาผิดปกติ ตาพร่ามัว ปวดเวียนศีรษะ หายใจลำบาก ไอเสียงแหบ ปวดหลัง อาหารไม่ย่อย เป็นต้น ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที